กรมราชทัณฑ์ ได้อนุโลมให้ผู้ต้องขังใช้ โทรศัพท์ หรือ อีเมล์ ก็ได้ ในการติดต่อกับญาติ แต่....จุดอ่อนในคุกก็เกิดขึ้นเมื่อมีผู้ต้องขังเพียงไม่กี่คนฉวยโอกาสลักลอบใช้โทรศัพท์มือถือ กระทำการผิดกฎหมายขึ้นภายในเรือนจำ ถ้าการใช้วิธีตรวจค้นตามปกติเพื่อป้องกันไม่ให้โทรศัพท์มือถือเล็ดลอดเข้ามาในเรือนจำ ได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ออกมาสกัด.....
เมื่อผู้ต้องขังเข้ามาอยู่ในเรือนจำ วิธีติดต่อกับญาติที่ไม่สามารถมาเยี่ยมได้ ก็คือติดต่อกันโดยทางจดหมาย
ในปี พ.ศ.2537ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้เสนอโครงการ ให้ผู้ต้องขังติดต่อกับญาติทางโทรศัพท์ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ก็ได้อนุญาตโดยการออกข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการติดต่อผู้ต้องขังป่วยทางโทรศัพท์ และการเยี่ยมอย่างใกล้ชิด ทำให้ผู้ต้องขังป่วยของโรงพยาบาลฯ สามารถใช้โทรศัพท์พูดคุยกับญาติได้ตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นต้นมา
คลิกดูรายละเอียดข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ฯ
....และแล้ว เมื่อเทคโนโลยีมือถือเริ่มแพร่หลาย ผู้ต้องขังบางคนก็อาศัยโทรศัพท์มือถือ เป็นเครื่องมือในการติดต่อกับบุคคลภายนอก โดยเฉพาะกับแก๊งค์ค้ายาเสพย์ติด ทำให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ต้องเสียเวลามาคอยเฝ้าระวัง ไม่ให้โทรศัพท์มือถือเล็ดลอดเข้ามาในคุก แต่การตรวจค้นก็ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เพราะคนที่เดินผ่านเข้า-ออกเรือนจำ มีมากมาย ทั้งเจ้าหน้าที่และญาติผู้ต้องขัง รวมทั้งยานพาหนะต่างๆที่ผ่านเข้ามาในเรือนจำ เช่น รถพยาบาล รถขนอาหาร ฯลฯ
วิธีป้องกันแก้ไข
ถ้านักโทษหันมาใช้เทคโนโลยีแบบไฮเทคในการทำความผิด แล้วเราจะมัวใช้เทคโนโลยีพื้นบ้าน คือการตรวจค้นด้วยมืออย่างเดียวมาสกัด ก็คงจะไล่ตามกันไม่ทัน หรือไม่ก็ต้องเฝ้าระวังกันจนไม่มีเวลาไปทำงานอื่น ......ได้เวลาทำสงครามเทคโนโลยีกันแล้ว.......
ทำเรือนจำให้เป็นเขตปลอดมือถือ 100% ทำได้ยากมากเผลอเมื่อไหร่ก็เรียบร้อย
ทำเรือนจำให้เป็นเขตปลอดคลื่นมือถือ 100% ทำได้ง่ายเพราะไม่ต้องใช้แรงงานคน
ทำอย่างไร
ไม่ยาก.....ย้ายเรือนจำไปอยู่ในป่า รับรองว่าไม่มีคลื่นให้โทร หรือไม่ก็ต้องใช้ เครื่องสร้างคลื่นรบกวนจนทำให้ใช้โทรศัพท์มือถือไม่ได้ อย่าคิดนะครับว่าจะไม่มีคนใช้.... ในโลกนี้ นอกจากเรือนจำแล้ว ก็ยังมีสถานที่อีกมากมายที่ไม่ต้อนรับโทรศัพท์มือถือเลย เช่น.....
ในโบสถ์ หรือมัสยิด |
โรงภาพยนตร์ โรงละคร |
ห้องสมุด ห้องประชุม |
หาซื้อได้ที่ไหน
มีหลายประเทศผลิตออกมาขาย เช่น เกาหลี อิสราเอล ฝรั่งเศส อเมริกา มีหลายรูปแบบ บางอย่างก็ใช้กับห้องเล็กๆ รัศมีทำการเพียงไม่กี่สิบเมตร แต่บางแบบก็ส่งคลื่นรบกวนไปไกลถึง 3 กิโลเมตร !!
บางบริษัทมีเครื่องประเภทสั่งทำได้เลยว่า ต้องการรัศมีทำการไกลแค่ ไหน ต้องการรบกวนคลื่นความถี่เท่าไหร่ ส่วนราคาก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของเครื่องและประเทศผู้ผลิต
ถูกกฎหมายหรือเปล่า
บางประเทศก็ไม่อนุญาตให้ใช้ครับ เพราะ ถือว่าไปลิดรอนสิทธิส่วนบุคคล ส่วนในประเทศไทยถ้าใช้ภายในเรือนจำและพิสูจน์ ได้ว่าไม่ไปรบกวนโทรศัพท์ของประชาชนนอกเรือนจำ ก็น่าจะขออนุญาตใช้ได้ เพราะติดตั้งโดยมีวัตถุประสงค์คือ ป้องกันและปราบปรามยาเสพย์ติด ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลอยู่แล้ว